วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

รวมเรื่อง ความรุนแรงทางเพศ


ความรุนแรงทางเพศ
เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com

องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรระดับนานาชาติเพื่อสิทธิเด็กและเยาวชน เปิดเผยงานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน วงจรปัญหาที่เชื่อมโยงในสังคม ระบุว่า รูปแบบของความรุนแรงในโรงเรียนในประเทศไทย ไม่ต่างจากรูปแบบหลักที่พบทั่วโลก
แต่ความรุนแรงทางเพศ จัดอยู่ในระดับความรุนแรงต้นๆ

สอดคล้องกับรายงานธนาคารโลก ในปี 2550 ประมาณการข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กทั่วโลกว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายและทำร้ายทางเพศ ในทุก 15 นาที จะมีผู้หญิงถูกข่มขืนประมาณ 20 คน และร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี
เคยมีผู้เก็บข้อมูลความรุนแรงที่เกิดกับเด็กไทยในช่วง 2535-2539 ซึ่งสังคมไทยอยู่ในบรรยากาศหลังเกิดความรุนแรงทางการเมืองจากน้ำมือของรัฐ มีคดีข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 87 คน

10 ปีต่อมา ปี 2549 สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดข้อมูล พบเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนมากที่สุด 412 ราย ทำอนาจาร 411 ราย และ พรากผู้เยาว์ 132 ราย
เฉพาะปี 2550 ข่าวการละเมิดทางเพศจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด และคม ชัด ลึก มีจำนวน 307 ข่าว เป็นคดีข่มขืนมากที่สุดไม่น้อยกว่า 122 ข่าว มีเหยื่ออายุต่ำสุด 1 ขวบผู้กระทำเป็นพ่อ
 
จากการเก็บสถิติความรุนแรงทางเพศ เก็บตัวเลขเฉพาะที่ผู้ถูกกระทำมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2552 มีทั้งสิ้น 775 ราย ในจำนวนนี้เป็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากถึง 83 ราย
 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพรวมบางส่วนที่ปรากฏในสังคมภาพกว้าง ยังไม่มีการเจาะลึกลงไปถึงหน่วยงานราชการภาครัฐและเอกชน สถาบันศึกษาทุกระดับโดยตรง

แม้จะมีองค์กรเอกชนหลายแห่งคอยรับเรื่องร้องเรียนและเข้าช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ แต่คงจะไม่ทันการ จึงขอฝากความหวังไปที่ "ศูนย์พึ่งได้" ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ตกเป็นเหยื่อเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว โทร. 1669 ฟรีตลอด 24    หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงไม่ทำให้ประชาชนผิดหวังเหมือนนักการเมืองในประเทศนี้

อ้างอิง
:
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFpIVXdOREUzTURrMU13PT0=&sectionid=TURNeE5RPT0=&day=TWpBeE1DMHdPUzB4Tnc9PQ==




พูดและฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อเยียวยาผู้ถูกละเมิดทางเพศ
ธัญญา ใจดี
(บทความคอลัมน์เสียงสตรี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่  18 มกราคม 2553)
          เป็นที่รู้กันดีในหมู่คนที่ทำงานกับกลุ่มผู้หญิงว่า มีผู้หญิงจำนวนมากที่เจอประสบการณ์เลวร้ายในชีวิตต่างกันไปหลายรูปแบบ มีความหนักเบาของปัญหาต่างกัน และก็มีวิธีเยียวยารักษาบาดแผลที่เกิดจากเรื่องราวร้ายๆ ในชีวิตแตกต่างกันเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสดูรายการทอล์คโชว์ของพิธีกรชื่อดังในสหรัฐอเมริกา โอปราห์ วินฟรีย์ ทางเคเบิลทีวีที่ทำให้ได้เรียนรู้การเยียวยาบาดแผลในชีวิตของผู้หญิงในอีกแง่มุมหนึ่ง
          โอปราห์ วินฟรีย์ ได้สัมภาษณ์ แมคเคนซีย์ ฟิลิป ซึ่งเป็นนักแสดง และลูกสาวนักร้องวงร็อคชื่อดัง จอห์น ฟิลิป เธอออกมาเล่าเรื่องราวในอดีตที่เก็บงำมานานถึงสามสิบปี เธอเปิดเผยว่าพ่อของเธอเป็นคนสอนให้รู้จักกับยาเสพติดตั้งแต่อายุ 11 ปี และเธอเคยมีเพศสัมพันธ์กับพ่อของตัวเอง เมื่ออายุ 17-18 ปี ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่เธอใช้ยา เธอเรียกมันว่าเป็นการสมยอมที่เจ็บปวด
          รายการนี้กระตุ้นปฏิกิริยาจากผู้คนทางบ้านมากมาย มีทั้งที่ออกมาให้กำลังใจแมคเคนซีย์ และแน่นอน ย่อมต้องมีคนออกมาตำหนิ และกล่าวหาว่าอยากดัง และรายการต้องการกระชากเรตติ้ง ครอบครัวเธอเอง ซึ่งหมายถึง แม่และน้องสาวก็คิดว่าเธอทำลายชื่อเสียงของพ่อและครอบครัว เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่านำมาเล่าในที่สาธารณะ
          ไม่ว่าจะมีเสียงตอบรับเช่นไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ขณะที่แมคเคนซีย์ เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเอง เธอได้มีโอกาสทบทวนชีวิตในอดีต และเข้าใจมันมากขึ้น รู้สึกเจ็บปวดน้อยลง และการเปิดเผยของแมคเคนซีย์กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงหลายคนที่มีประสบการณ์ร่วมกับเธอ ได้เขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ www.oprah.com จะพบว่ามีการโพสต์ความเห็นกว่า 700 ความเห็นที่มีต่อการเปิดเผยเรื่องราวของแมคเคนซีย์ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ทางเพศอันเลวร้าย และตามมาหลอกหลอนทั้งยามหลับและตื่น พวกเธอต่างขอบคุณในความกล้าหาญของแมคเคนซีย์ที่เสียสละตัวเอง เป็นผู้หญิงคนแรกที่ออกมาเล่าเรื่องราวต่อสาธารณะ ทำให้พวกเธอได้รู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ยังมีผู้หญิงคนอื่นๆ อีกมากมายเหลือเกินที่ต้องเจ็บปวดกับการเก็บงำความลับเอาไว้
           ความเห็นหนึ่ง เขียนว่า แม่ของเธออายุ 80 ปี ได้ดูรายการในวันนั้น และบอกกับเธอว่ารู้สึกโล่งและปลอดโปร่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อได้ดูรายการในวันนั้น จากนั้น จึงค่อยๆ เล่าเรื่องราวที่เก็บมานานถึงหกสิบปีให้ลูกสาวฟังว่าเคยถูกพ่อข่มขืนเมื่ออายุ 12 ปี
          หลังจากนั้น พิธีกรชื่อดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ ก็ได้พูดในรายการของเธอเองว่าเคยถูกลุงละเมิดทางเพศตอนอายุ 14 ปี และสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดคือ เมื่อเล่าให้พ่อฟัง พ่อกลับถามว่า มันเป็นการสมยอมหรือเป็นการข่มขืน ซึ่งโอปราห์รู้สึกว่า ขณะที่เธออายุ 14 ยังไม่รู้เรื่องเซ็กส์เลย ต่อให้เธอแก้ผ้ายืนอยู่ตรงหน้า ลุงเธอก็มีหน้าที่ต้องปกป้องเธอ และสั่งสอนว่าเธอควรรักและปกป้องร่างกายตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ว่าลุงไม่ควรฉวยโอกาสจากความไม่รู้เดียงสาของเด็ก
          ผลจากการมาออกรายการของแมคเคนซีย์ไม่ได้จบง่ายๆ ผู้หญิงคนหนึ่งถึงกับยอมมาออกรายการทอล์คโชว์ของโอปราห์ เธอเล่าว่าเมื่ออายุ 4 ขวบก็ถูกพี่ชายต่างพ่อซึ่งตอนนั้นอายุ 15 ปี ขอให้ทำออรัลเซ็กส์ หลังจากนั้น เมื่อเข้าวัยรุ่น ก็มีเพศสัมพันธ์กับพี่ชาย เธอยังได้บอกกับแมคเคนซีย์ผ่านทางรายการว่า มันไม่ถูกต้องที่แมคเคนซีย์ใช้คำว่า สมยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะในความเห็นของเธอ ควรจะเรียกว่าถูกกระทำจากคนที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งอำนาจนี้มาพร้อมกับการเป็นเพศชาย การมีอายุมากกว่า และมีวุฒิภาวะสูงกว่า ในตอนที่เธออายุ 4 ขวบ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเซ็กส์คืออะไร
          เธอขอบคุณแมคเคนซีย์ที่กล้าออกมาพูดเป็นคนแรก เพราะเธอยอมรับว่าเธอไม่มีความกล้าพอที่จะพูดต่อสาธารณะเป็นคนแรก แต่เธอจะเป็นกองหนุนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้หญิงทั่วโลกที่ต้องเจอกับการละเมิดทางเพศรู้ว่า พวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว ยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่เจอเรื่องแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องรู้สึกผิด จงทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และเยียวยามันด้วยการเปิดเผยให้คนที่ไว้วางใจได้ฟัง เพื่อกอบกู้ความภาคภูมิใจกลับคืนมา และแม้ว่าครอบครัวจะเป็นอุปสรรคในการที่ผู้หญิงจะได้เยียวยาตัวเอง เพราะเรื่องเหล่านี้ มักถูกปิดบัง ซ่อนเร้น ไม่ยอมรับจากสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว แต่ก็ยังมีชุมชนออนไลน์ที่สามารถเป็นพื้นที่เยียวยาจิตใจกันได้ สำหรับคนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
          เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในสังคมอเมริกัน แต่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่สังคมไทย ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องราวที่ถือว่าเป็นความลับของครอบครัวจากเพื่อนสนิทหลายคน มีตั้งแต่ถูกแอบดูตอนอาบน้ำ หลายกรณีถูกคนในครอบครัวข่มขืน บางคนเอาตัวรอดมาจากพ่อของตัวเองได้อย่างหวุดหวิด ขณะที่แม่พร่ำบอกให้ยกโทษให้พ่อ เพราะอย่างไรเสีย เขาก็ข่มขืนไม่สำเร็จ
          การไม่มีที่ทางให้ผู้หญิงได้พูดประสบการณ์ทางเพศของตัวเองจึงเป็นการปิดช่องทางเยียวยาตัวเอง และไม่สามารถกอบกู้ความภาคภูมิใจกลับคืนมาได้ ผลกระทบจากการที่แมคเคนซีย์ออกมาเล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดต่อสาธารณะจึงเป็นบทเรียนที่ดีต่อสังคมไทยที่พยายามปิดๆ บังๆ การละเมิดทางเพศในครอบครัวไว้อย่างสุดฤทธิ์
          ทางออกของปัญหาการละเมิดทางเพศอาจไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งเดียวที่รัฐถนัดมีเพียงการพร่ำรำพันถึงภาพมายาของสถาบันครอบครัวอันอบอุ่นสำหรับสมาชิกในครอบครัวบางคน และคุ้มครองผู้หญิงด้วยการเขียนอย่างสวยหรูในกฎหมาย แต่ไม่เคยถูกนำไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ... ทางรอดของผู้หญิงจึงเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการรวมตัวกันผ่านช่องทางต่างๆ เพียงเพื่อจะเล่าและฟังกันอย่างลึกซึ้ง
อ้างอิง : http://www.whaf.or.th/content/298




ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ลิ้นกับฟัน
ธัญญา ใจดี
(บทความคอลัมน์เสียงสตรี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่  14 ธันวาคม 2552)
          เมื่อต้นเดือนมีข่าวภรรยาแทงสามีจนตายและยังตัดอวัยวะเพศอีกด้วย แต่เธอก็ไม่ได้หนีหายไปไหน กลับนั่งรอให้ตำรวจมาจับแต่โดยดีตามข่าวระบุว่าสามีภรรยาคู่นี้อยู่กินกันมานานหลายปี มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แรกๆ ก็อยู่กันมีความสุขดี แต่หลังๆ สามีเริ่มกินเหล้า และมักจะบังคับร่วมหลับนอนบ่อยครั้ง ถ้าปฏิเสธก็จะถูกซ้อมทุกครั้งไป เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งทนไม่ไหวจนต้องลงมือตอบโต้
          เรื่องราวทำนองนี้ พบเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ได้บ่อยครั้ง และผู้หญิงเหล่านี้ก็มักจะมีชะตากรรมเดียวกัน คือ ต้องไปอยู่ในเรือนจำ กลายเป็นนักโทษข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา สะท้อนมุมมองของศาลไทย หรืออาจจะเรียกได้ว่าของคนไทยส่วนใหญ่ก็ว่าได้ อย่างที่เรามักรู้กันดีว่า วิธีแก้ปัญหาจะเป็นตัวตัดสินว่าเรามีมุมมองต่อปัญหานั้นอย่างไร ในกรณีศาลประเทศแคนาดา มีการปฏิวัติมุมมองเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมานานถึง 19 ปีแล้ว คือ จะไม่ตัดตอนดูเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่มีการลงมือทำร้ายกันเท่านั้น แต่จะสืบสาวเรื่องราวยาวนานไปตลอดช่วงความสัมพันธ์
          ดังนั้น กรณีที่ภรรยาถูกสามีทำร้ายรุนแรงและซ้ำซาก อย่างที่บ้านเรามักมีคำพูดติดตลกว่าเห็นเมียเป็นกระสอบทราย เหมือนกับเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตามประสาลิ้นกับฟันที่ต้องมีกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา จนบ่อยครั้งที่เรามักได้ยินว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความกรณีผัวเมียทำร้ายร่างกายกัน ศาลของแคนาดากลับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องตลก แต่นับรวมเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีด้วย ถ้ามีหลักฐานหนักแน่นพอ ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ต้องรับโทษใดๆ แถมไม่มีการบันทึกประวัติเป็นผู้ต้องหาในแฟ้มคดีอาญาอีกด้วย
          การที่คนถูกกระทำซ้ำซากลุกขึ้นมาตอบโต้ และนำประวัติการถูกทำร้ายมาใช้ต่อสู้ในชั้นศาลอย่างที่ศาลประเทศแคนาดายอมรับนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า battered woman defense เพราะส่วนใหญ่คนที่ถูกทำร้ายจากคู่มักเป็นผู้หญิง ตามหลักการนี้ ผู้เชี่ยวชาญเขาอธิบายไว้ว่า ผู้หญิงมักมีอาการซึมเศร้า ไม่ขอความช่วยเหลือจากคนนอกครอบครัว หรือไม่พาตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง อาจเป็นเพราะไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และมักจะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นความผิดของตนเอง สมควรถูกสั่งสอนจากสามี ซึ่งทำให้ปฏิเสธความช่วยเหลือ ไม่ดำเนินคดีฟ้องร้อง หรือบางครั้งก็ถึงกับแสดงอาการก้าวร้าว รุนแรงต่อคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วย อาการเครียดที่เก็บกดไว้นานนี้ ทำให้ขาดความสามารถในการประเมินสิ่งรอบตัว ประมาณว่า เห็นช้างเท่าหมูหรือ บันดาลโทสะได้
           หลายประเทศมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้างวิธีคิดของคนในสังคม ไม่มีวันจะแก้ปัญหานี้ได้ ตราบใดที่ยังเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมไม่ได้ ล่าสุด รัฐบาลประเทศอังกฤษถึงกับประกาศนโยบายใหม่ ตั้งใจจะขุดรากถอนโคนปัญหานี้ ด้วยการเริ่มสอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) กันแบบจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ห้าขวบ หรือชั้นอนุบาล เด็กๆ จะถูกสอนว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องเลวร้าย ไม่ปกติ และไม่ควรต้องทนอยู่กับความรุนแรง แต่กว่าจะเริ่มลงมือสอนกันได้ก็ต้องรอไปอีกสองปีเพราะต้องเตรียมฝึกครูให้สอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้
          ส่วนในประเทศแอฟริกาใต้ ก็เริ่มมีการเรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชายที่มองว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าและเป็นฝ่ายออกคำสั่ง กระแสการทำงานกับผู้ชายเป็นเรื่องที่มาแรงในสังคมโลก ถึงขนาดองค์การสหประชาชาติมีโครงการเกี่ยวกับการป้องกันความรุนแรงทางเพศ โดยเน้นทำงานกับกลุ่มเป้าหมายผู้ชายเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด พยายามปรับค่านิยมทางสังคมที่หล่อหลอมให้ผู้ชายไม่กล้าแสดงอารมณ์อ่อนไหว และอ่อนโยน เมื่อผู้ชายรู้สึกไม่มั่นคง หวาดกลัว หรือรู้สึกถูกท้าทาย อารมณ์เดียวที่ผู้ชายรู้จักก็คือ อารมณ์โกรธ ก้าวร้าว และรุนแรง
          สำหรับสังคมบ้านเรา ถนัดการทำงานเยียวยามากกว่าป้องกันปัญหา จึงเกิดศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในภาวะวิกฤต ที่ถือเป็นบริการครบวงจร แม้ว่าจะยังไม่สามารถให้บริการได้ตามอุดมคติเสียทีเดียว โดยหลักการของศูนย์นี้ จะเน้นระบบบริการที่มีความละเอียดอ่อน มองว่าเมื่อผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงแล้ว ไม่ควรต้องหอบหิ้วสังขารไปรับบริการหลายจุด ตั้งแต่โรงพยาบาล เดินเรื่องจากแผนกผู้ป่วยนอก ไปแผนกนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา จากนั้น ก็ไปโรงพัก และไปขึ้นศาล แต่บริการควรจะเป็นมิตรและเข้าใจหัวอกกันบ้าง เลยเกิดบริการครบวงจรที่รวมสหวิชาชีพทั้งหลายไว้ด้วยกัน มาจุดเดียวได้รับบริการครบ ถ้าถูกข่มขืน ก็จะได้รับยาต้านไวรัสเอดส์และยาคุมฉุกเฉินทันที
          สิ่งที่บ้านเรายังอ่อนอยู่มากก็คือ การพัฒนาให้คนในกระบวนการยุติธรรมมีหัวใจที่ละเอียดอ่อนต่อประเด็นความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดในครอบครัว และการขจัดรากเหง้าของปัญหา งานรณรงค์สร้างความตระหนักจึงมักทำกันแบบผิวเผิน และทำระยะสั้นตามเทศกาลวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เช่น เดินขบวน และทำสปอตโฆษณาที่ต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้อเวลาออกอากาศ เพียงแค่ให้ได้มีผลงานออกสื่อสาธารณะถ้าเทียบกับการที่ประเทศอังกฤษคิดจะสอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ระดับอนุบาลก็สะท้อนมุมมองและประสิทธิภาพการทำงานที่นับว่ามือคนละชั้นของรัฐบาลสองประเทศนี้แล้ว

อ้างอิง : http://www.whaf.or.th/content/249






เซ็กส์ไม่ปลอดภัยคือความรุนแรงทางเพศ
ธัญญา ใจดี
(บทความคอลัมน์เสียงสตรี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่  23 พฤศจิกายน 2552)          
พฤศจิกายนเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงสากล ทุกปีจะมีการแถลงข่าวสถิติการข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้สังคมตระหนักในปัญหา ช่วยกันสอดส่องไม่ให้คนที่ทำความรุนแรงลอยนวลไปได้ แต่สำหรับปีนี้ ประเด็นรณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศที่เอ็นจีโอและสถาบันวิชาการต่างจับมือกันแถลงข่าวเป็นเสียงเดียวกันเมื่อ 20 พฤศจิกายนนั้น เป็นการพลิกโฉมมุมมองเกี่ยวความรุนแรงทางเพศ และพุ่งไปที่แก่นกลางของปัญหาทีเดียว นั่นคือ เซ็กส์ไม่ปลอดภัยคือความรุนแรงทางเพศ
          เหตุที่เซ็กส์ไม่ปลอดภัยกับความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องเดียวกันก็เพราะเซ็กส์ไม่ปลอดภัยก่อผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางที่สุด ทั้งการตั้งท้องโดยไม่พร้อม ทำแท้งไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือถ้าคลอดออกมา ผู้หญิงเองก็เสียอนาคต โดยเฉพาะถ้าอยู่ในวัยเรียน ถ้าเด็กทารกโตขึ้นมา ก็กลายเป็นประชากรที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดี และยิ่งกว่านั้น เซ็กส์ไม่ปลอดภัยยังทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งเอดส์ ไม่ต้องพูดถึงความสูญเสียว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน โดยเฉพาะลองคิดว่าตัวเองหรือญาติพี่น้องของเราเป็นผู้ติดเชื้อ โลกทั้งโลกเหมือนจะถล่มทลายลงมา เพียงเพราะแค่เซ็กส์นั้นไม่ได้ป้องกัน จึงไม่ปลอดภัย
          เซ็กส์ไม่ปลอดภัยยังรวมถึงการถูกละเมิดทางเพศ ถูกแอบถ่ายคลิป ถูกขู่ว่าถ้าไม่มีเซ็กส์ด้วยจะตัดสัมพันธ์ หรือตัดพ้อว่าไม่รักกันใช่ไหม เลยไม่ยอมมีเซ็กส์ด้วย
          ที่ผ่านมาเราพูดกันถึงปลายเหตุของเซ็กส์ไม่ปลอดภัย และก็ไปประจานคนที่ไม่ป้องกันตัวเอง แต่ไม่เคยย้อนรอยกลับไปดูว่าอะไรคือสาเหตุ สถานการณ์แบบนี้บ่งบอกว่าสังคมเราแสนจะอับจนปัญญา แม้แต่การวิจัยค้นคว้าสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถมีเซ็กส์ที่ป้องกันและปลอดภัยได้ก็แทบจะไม่มี ทั้งๆ ที่เซ็กส์ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยเสียสุขภาพกายและใจ
           ถ้าจะถามหาจำเลยกันจริงๆ แล้ว หลายภาคส่วนทีเดียวที่ต้องออกมารับผิดชอบต่อการทำให้คนไทยมีเซ็กส์ไม่ปลอดภัย เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ที่สอนลูกๆ หลานๆ ว่าไม่ให้มีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่พ่อแม่มักสอนแค่แผนหนึ่ง ไม่เคยมีแผนสอง คือ สอนให้ลูกรู้เท่าทันเพื่อป้องกันตัวเองจากเซ็กส์ไม่ปลอดภัย นั่นอาจเป็นคำตอบสำหรับคำถามคาใจหลายคนเมื่อผลสำรวจต้นปีนี้ระบุว่าเด็กท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนดี สะท้อนความใสซื่อไม่ได้เรียนรู้การเอาตัวรอดเมื่อหลีกเลี่ยงการมีเซ็กส์ไม่ได้
          ยิ่งกว่านั้น พ่อแม่หลายครอบครัวกลายเป็นตัวกระพือให้เกิดเซ็กส์ไม่ปลอดภัย ด้วยความคิดว่าลูกผู้ชายไม่เสียหายอะไร เพราะไม่ท้อง จึงไม่เคยสอนลูกให้เคารพร่างกายคนอื่น และไม่เคยสอนเรื่องการรับผิดชอบต่อเรื่องเพศของตัวเอง จนไปข่มขืนหรือทำแฟนท้อง พ่อแม่จึงกลายเป็นจำเลยสังคม ฐานปิดกั้นเซ็กส์ที่ปลอดภัย
          อีกหนึ่งจำเลยก็หนีไม่พ้นคุณครูทั้งหลายที่ต่อต้านถุงยาง ทั้งๆ ที่นอกจากถุงยางจะป้องกันการตั้งท้องแล้ว ยังป้องกันเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกกว่า 30 ชนิด แต่ข้อมูลนี้ก็ไม่เคยถูกบอกต่อ แถมภาพลักษณ์ถุงยางกลับถูกทำให้มัวหมองไปเสียอีก เยาวชนพกถุงยางไว้ป้องกันตัวเองและคู่กลับถูกมองเหมือนเป็นอาชญากรทำเรื่องเลวร้าย อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้สถิติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเยาวชน
          เซ็กส์ไม่ปลอดภัยไม่ได้เป็นปัญหาของเยาวชนเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังไม่รู้วิธีมีเซ็กส์ปลอดภัย ในออสเตรเลียเอง เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวน่าสนใจว่า การรณรงค์กระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยมัวแต่ไปทำในกลุ่มเยาวชนจนหลงลืมผู้ใหญ่ พอไปสำรวจตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็พบว่าผู้ใหญ่ก็ไม่พ้น แถมมีสัดส่วนพอๆ กับวัยรุ่น กลายเป็นว่าผู้ใหญ่เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เป็นมิตรเช่นกัน
          ในส่วนของสังคมไทย จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดความเชื่อของผู้ชายมีเชื้อเอชไอวี โดยคนทำงานด้านสุขภาวะทางเพศ พบว่า ผู้ชายมีเชื้อมองว่าการที่เขาติดเชื้อก็มาจากเซ็กส์ไม่ปลอดภัย และมองหาจำเลยได้ยากเต็มที รู้เพียงแต่ว่า คือใครก็แล้วแต่ที่ทำให้เขาเชื่ออย่างจริงๆ จังๆ ว่า เป็นผู้ชายต้องเก่งเรื่องเซ็กส์ ต้องมีคู่เยอะๆ และเปลี่ยนบ่อยๆ และจะเป็นผู้ชายตัวจริงได้ต้องกล้าเสี่ยง กล้าลอง ถุงยางก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนขี้ขลาด
          ข่าวที่ว่ากรมควบคุมโรคจะทำโครงการถุงยางอนามัยเข้าถึงได้สำหรับทุกคนหรือ Condom for All อาจจะไม่ตอบโจทย์ของบ้านเรา ที่หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีปริศนาบางอย่างที่ต้องค้นหาว่า อะไรทำให้คนที่มีเซ็กส์ ไม่เฉพาะผู้ชาย แต่ยังรวมถึงผู้หญิง สาวประเภทสอง และเกย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าคนทุกเพศ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยแม้จะวางอยู่บนหัวเตียง
          ดูๆ ไปแล้ว เราทุกคนล้วนมีส่วนในความรุนแรงทางเพศกันทั้งนั้น เพราะทำให้เกิดเซ็กส์ไม่ปลอดภัย มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่บทบาท ยิ่งเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ฝ่ายนโยบาย หรือเจ้าหน้าที่ให้บริการสุขภาพทางเพศ ที่ล้วนมีอำนาจอยู่ในมือ ถ้าหลักการเรื่องสิทธิไม่แน่นพอ ก็ยิ่งจะอ้างความหวังดี และไปปิดกั้นการเรียนรู้และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันตัวเองของคนที่มีปากมีเสียงน้อยกว่า
          ประเด็นนี้ ทั้งคนทำงานเรื่องสิทธิ เรื่องความรุนแรงทางเพศและเอดส์เริ่มยอมรับว่า และพูดเป็นเสียงเดียวกันออกมาจนได้ว่า สิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ คือสิทธิมนุษยชน: เคารพ เข้าใจ ปลอดภัย เป็นสุข


อ้างอิง : http://www.whaf.or.th/content/245





เยาวชนหญิงเกือบครึ่งหนึ่ง ถูกใช้ความรุนแรงทางเพศจากคนใกล้ชิด

(มติชนออนไลน์ ซึ่งได้นำมาจากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11079, หน้า 2)5

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล และ รศ.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา จากสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ มหาวิทยามหิดล รายงานผลสำรวจพฤติกรรมทางเพศของประชาชนชายหญิง 2 กลุ่มอายุ คือ กลุ่ม 18-24 ปี และ กลุ่ม 25-29 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 14 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,048 คน
โดยพบว่า ผู้ชายจำนวน 93% ตอบว่า เพศสัมพันธ์ครั้งแรกเป็นไปด้วยความต้องการ ขณะที่เพศสัมพันธ์ครั้งแรกของผู้หญิงเป็นไปด้วยความพร้อมใจนั้น 79% เท่ากับว่า 21% "ไม่สมัครใจ" ผู้ทำการสำรวจ ชี้ว่าหากพิจารณาลงในรายละเอียดของกลุ่มอายุ กลับปรากฏว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 10-14 ปี มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกโดยไม่ยินยอมพร้อมใจมากถึงร้อยละ 45.5

"สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากข้อค้นพบในการสำรวจครั้งนี้คือ เยาวชนหญิงเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และสิ่งที่น่าวิตกคือ เมื่อเราสำรวจถามกลุ่มตัวอย่างว่า ใครเป็นคนกระทำความรุนแรง ก็พบว่าร้อยละ 65 ของผู้หญิงบอกว่า ถูกแฟนบังคับให้ร่วมเพศ ตามมาด้วยคนคุ้นเคย เพื่อนและสามีที่ไม่ได้จดทะเบียน นั่นเท่ากับว่า ความรุนแรงทางเพศมักเกิดจากคนใกล้ตัวมากกว่าคนแปลกหน้า " รศ.กฤตยาอธิบาย
จากข้อมูลสำรวจชิ้นนี้ ร.ศ.กฤตยาสะท้อนว่า การที่เด็กผู้หญิง ถูกกระทำความรุนแรงค่อนข้างมากนั้น เป็นเพราะสังคมไทย ยังคงมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อายุในวัฒนธรรมไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่อนวัยต้องยินยอมต่อ "ผู้ใหญ่" ขณะที่ผู้หญิงเองก็ยังมีความเชื่อเรื่องบทบาทของภรรยาที่ต้องมีหน้าที่บริการทางเพศ แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม

สิ่งที่ผู้ทำการศึกษาต้องการเสนอ แนะแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศของผู้หญิงโดยเฉพาะเยาวชนคือ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางเพศ ที่ต้องรื้อระบบวิธีคิด ต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจใน สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย เรียนรู้ที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันที่จะไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เรื่องเพศที่ไม่ต้องการ ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างค่านิยมเรื่องเพศที่เหมาะสม การมีเพศสัมพันธ์ที่พร้อมและมีความรับผิดชอบ
การถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมิเพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังคงมีผลต่อจิตใจที่อาจส่งผลต่อชีวิตทั้งชีวิต


อ้างอิง : http://arayachon.org/news/20080713/544





เซ็กส์เสี่ยงครองอันดับ
1 ปัญหา สธ.ไทย
ที่มา : สสส.



นักวิชาการ เผย "เซ็กส์เสี่ยง" ครองอันดับ 1 ปัญหาสาธารณสุขไทยนานกว่า 10 ปี หนุนร่างพรบ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ มั่นใจแก้ปัญหาเซ็กส์ไม่ปลอดภัยทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องแม่วัยใส พิสูจน์ชัดในต่างประเทศลดอัตราติดเอดส์-ท้องวัยเรียน เตรียมจับมือกรมอนามัยจัดประชาพิจารณ์ 16 ส.ค.นี้
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวถึงกรณีที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เตรียมผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... ว่า นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 1 ของประเทศไทย นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งหัวใจสำคัญของร่างพรบ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ กำหนดให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยมีความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยทั้งระบบ ไม่เพียงแต่เรื่องการท้องก่อนวัยอันควรเท่านั้น
น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้านครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาการของ สรีระทางร่างกาย ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ทักษะการตัดสินใจหรือการต่อรองเมื่อจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ทั้งเพศหญิงและ ชาย ทักษะการเอาตัวรอดเมื่อถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางเพศหรือถูกละเมิดทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากตั้งครรภ์โดยที่ไม่พร้อมจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่วัยรุ่นเท่านั้นที่จำเป็นต้องรู้ แต่คนไทยทุกเพศทุกวัยต้องมีความรู้ด้วย
"พรบ.ฉบับนี้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย ความสัมพันธ์ การป้องกันและการแก้ปัญหา จะเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งสำคัญมากไม่อยากให้ยึดติดเพียงแค่เรื่องของการแก้ปัญหาแม่ในวัยเรียน อย่างเดียว และในร่างพรบ.ฉบับใหม่ล่าสุดได้มีการตัดเรื่องของการทำแท้งออกไปแล้ว จะเน้นเรื่องการป้องกันปัญหาด้วยการให้ความรู้เพศศึกษาที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งนี้ ในหลายประเทศที่มีการออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ มีการพิสูจน์แล้วว่าอัตราเด็กท้องและการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ลดลง"น.ส.ณัฐยา กล่าว
น.ส.ณัฐยา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)และสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จะร่วมกันจัดประชา พิจารณ์เกี่ยวกับร่างพรบ.ฉบับนี้ ที่โรงแรมทีเค พาเลซ โดยจะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานด้านเพศ ศึกษาและเอดส์ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้จากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาปรับปรุงแก้ไข กฎหมายรอบสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป

อ้างอิง : http://campus.sanook.com/เซ็กส์เสี่ยงครองอันดับ-1-ปัญหา-สธ.ไทย-924670.html
ตีแผ่ข่าวด้านเพศรอบ 5 ปี พบเกินครึ่งข่มขืนเด็กอายุต่ำ18 ปี

ข่าวสด วัน พฤหัสบดี ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 00:00 น.

98.3% ถูกข่มขืนซ้ำซาก-89%ถูกสายเลือดเดียวกันข่มขืน พบความรู้เรื่องเพศ ป้องกันตัวเองยังไม่เพียงพอ สังคมไทยกดขี่ผู้หญิง

                ที่โรงแรมรามาการ์เด้น น.ส.กุลภา วจนสาระ นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนองานวิจัย "เพศแบบไหนในห้องสมุดและข่าว: หนังสือ เอกสารวิชาการ ข่าว และบทความในฐานข้อมูลสุขภาวะทางเพศ" ในงานสัมมนาวิชาการ "วิถีเพศ วิถีสุขภาวะ" โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การสำรวจสื่อในห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐขนาดใหญ่ 5 แห่ง ตั้งแต่ปี 2501 - 2550 ด้วยการรวบรวมบทความ หนังสือ เอกสารวิชาการ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ข่าว และสื่อออนไลน์ พบมีเรื่องเพศจำนวนมากที่ถูกกล่าวถึง

น.ส.กุลภา กล่าวอีกว่า มีสื่อที่เสนอเนื้อหาความรู้อนามัยเจริญพันธ์ 63% ของข้อมูลทั้งหมด ขณะที่สื่อออนไลน์ มีการให้ความรู้ 17% ส่วนสื่อประเภทข่าว เน้นเสนอประเด็นความรุนแรงและการละเมิดทางเพศมากที่สุด 64% แต่มีการนำเสนอความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องเพียง 8% เท่านั้น การเก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบ มีข่าวบทความเกี่ยวกับเรื่องเพศทั้งหมด 17,529 รายการ เป็นการเสนอข่าวข่มขืนมากที่สุด 6,638 รายการ หรือ 38% รองลงมา ความรุนแรงทางเพศ 4,612 รายการ หรือ 26% อนามัยเจริญพันธ์ 2,022 รายการ 12% การเรียนรู้เรื่องเพศ 1,662 รายการ หรือ 9% ความหลากหลายทางเพศ 1,310 รายการ หรือ 7% ปัญหาการทำแท้ง 797 รายการ หรือ 5%

"ข้อมูลที่สะท้อนปัญหาสังคม คือ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีเหยื่อถูกข่มขืน 1,379 ราย เหยื่อเป็นผู้หญิง 98.3% เหยื่อมากกว่าครึ่งหนึ่ง 58% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเหยื่อที่เป็นเด็กต่ำกว่า 18 ปี กลุ่มนี้ ยังถูกข่มขืนต่อเนื่องซ้ำซากถึง 93% โดยเป็นการถูกข่มขืนจากคนในสายเลือดเดียวกันมากที่สุด 89% ขณะที่เหยื่อ 1 ใน 4 ถูกรุมโทรม อีก16% ถูกข่มขืนแล้วฆ่า" น.ส.กุลภา กล่าว

น.ส.กุลภา กล่าวด้วยว่า การข่มขืนในสังคมไทยมีรากเหง้ามาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำและถูกกระทำ โดยเฉพาะเด็กหรือผู้หญิง ที่ไม่กล้าขัดขืน เพราะผู้กระทำเป็นชายหรือคนในครอบครัว เช่น พ่อ ลุง น้า พี่ หรือ ครู ซึ่งมีบทบาทและอำนาจเหนือกว่า สถานการณ์ด้านเพศขณะนี้ สังคมกำลังเผชิญหน้ากับความรุนแรง การละเมิดทางเพศ การข่มขืน แต่ฐานข้อมูลทางวิชาการยังไม่มากพอ และไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนสื่อเน้นการนำเสนอแต่ภาพของความรุนแรง การละเมิดทางเพศ แต่ให้ความรู้น้อยมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดและพัฒนาเพื่อเป็นฐานความรู้ให้สังคม



อ้างอิง : http://news.sanook.com/social/social_311956.php




Oral Sex ออรัลเซ็กซ์กับมะเร็งในลำคอ
วันที่ 1 กันยายน 2554 11:07:09 | โดย editor
นักวิทยาศาสตร์เตือน ผู้ที่ทำออรัลเซ็กซ์(การทำให้เกิดความพึงพอใจทางเพศโดยใช้ปาก) กับคู่นอนมากกว่า 5คนขึ้นไปมีโอกาสเป็นมะเร็งในลำคอทั้งชายและหญิง เหตุจากออรัลเซ็กซ์แพร่กระจายเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เรียกว่า Human papillomavirus (HPV)
          ผลการศึกษาเรื่องนี้เป็นของ ของ ดร.มอร่า กิลลิสัน (Dr. Maura Gillison) และทีมงานนักวิจัยจาก Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health ในบัลติมอร์ (Baltimore) รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อ New England Journal of Medicine (วันที่10พฤษภาคม) ซึ่งเป็นวารสารฉบับเดียวกับที่ได้ตีพิมพ์เรื่อง เชื้อ HPV และวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไปหมาดๆ          นักวิจัยพบว่า เชื้อ HPV ทำปฏิกิริยาในระดับโมเลกุลบางอย่างที่ก่อให้เกิดมะเร็งในลำคอ เรียกว่า Oropharyngeal Squamous-cell Carcinoma แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดชี้แจงกระบวนการเกิดปฏิกิริยาดังกล่าว
          ทีมงานได้ศึกษากับผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก (Oropharyngeal Cancer) หรือมะเร็งที่ต่อมทอนซิล (Cancers of the tonsils) ในระยะเริ่มต้นจำนวน 100คน และผู้ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งอีก 200คน โดยการตรวจตัวอย่างเลือดและน้ำลายกับโมเลกุลของแอนติบอดี และศึกษาสภาพความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ เช่น พฤติกรรมทางเพศ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ โดยใช้แบบสอบถามลับ ได้รับผลดังนี้คือ
 ผู้ที่มีคู่นอน (ที่ทำออรัลเซ็กซ์)จำนวนตั้งแต่ 6คนขึ้นไปในชั่วอายุขัย (Lifetime) มีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากถึง 3.4เท่า
 ผู้ที่มีคู่นอน (ที่ร่วมเพศกันทางช่องทางปกติ) จำนวนตั้งแต่ 26คนขึ้นไปในชั่วอายุขัย มีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปาก 3.1เท่า
พบความสัมพันธ์ว่า จำนวนคู่นอนที่มากขึ้นเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งมากขึ้นเช่นกัน
          มะเร็งในช่องปากเกิดจากการติดเชื้อ HPV-16ในช่องปากด้วยระดับ 32เท่าอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ถ้าได้ติดเชื้อ HPV-16ในช่องปากแล้วโอกาสที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งก็สูงเป็น 32เท่า โดยการสูบบุหรี่และดื่มสุราไม่ได้เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในกรณีนี้ เนื่องจากเมื่อเซลล์ในปากติดเชื้อ HPV แล้วเชื้อก็จะพัฒนาไปเป็นก้อนมะเร็งโดยไม่ต้องใช้บุหรี่และสุรามาเป็นแนว ร่วม (โดยปกติแล้ว บุหรี่และสุราคือตัวการที่ทำให้เกิดมะเร็งในช่องปาก)
          ดร.สตินา (Dr Stina Syrjänen) บรรณาธิการร่วมจาก University of Turku ใน Finland กล่าวว่า ผลการศึกษาก่อให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจทางการแพทย์ เช่น ควรจะมีการตรวจผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อ HPVในลำคอหรือไม่, การรักษาผู้ที่เป็นมะเร็งจากการติดเชื้อ HPV ควรจะแตกต่างจากผู้ที่เป็นมะเร็งอันเนื่องมาจากดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดหรือไม่ และวัคซีน HPV จะป้องกันมะเร็งในลำคอและช่องปากได้หรือไม่ เป็นต้น
          อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาน่าจะชี้นำให้ทุกคนหันมาระมัดระวังตัวกันมากขึ้น เมื่อจะทำออรัลเซ็กซ์ โดยการใช้ถุงยางอนามัย

อ้างอิง :  http://talkaboutsex.thaihealth.or.th/knowledge/1606
เผยปัญหาเด็กไทยพฤติกรรมทางเพศเสื่อมโทรม-สุดขีด


เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ-์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง อย่าทอดทิ้งเด็กขึ้น โดย น.ส.ฉันทนา บรรพศิริโชติ กรรมการ  
มพด. เผยว่า ขณะนี้พฤติกรรมความรุนแรงเด็กในสังคมไทยถึงขีดสุด ตัวอย่างจากการทารุณกรรมเด็ก ที่มีอายุต่ำลงเรื่อยๆ แต่ที่น่าหนักใจกว่าคือเด็กกลับไปทำทารุณต่อเด็กด้วยกันเอง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสถานะที่เปลี่ยนไปของเด็กที่ในอดีตเด็กจะอยู่ในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อ แต่ในขณะนี้เด็กเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำด้วย  ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ เพื่อทำวิจัยพบว่า  ปัญหาของเด็กมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ส่วนใหญ่เด็ก 1 คนจะเผชิญกับปัญหาหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยกมากขึ้น การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของยาเสพย์ติดและความรุนแรงในสังคม บางประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นภาวะวิกฤติของเด็ก  โดยเฉพาะปัญหาพฤติกรรมทางเพศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว โดยเกิดจากค่านิยมเลียนแบบ โดยขาดวิจารณญาณ แยกแยะถูกผิด เลียนแบบจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ที่แสดงพฤติกรรมทางเพศต่อกันให้เด็กเห็น เลียนแบบจากสื่อ เช่น ในภาพยนตร์ที่ตัวแสดงมักมีเพศสัมพันธ์ทางเพศกันง่ายๆเมื่อมีความพอใจ

                น.ส.ฉันทนากล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลปัญหาพฤติกรรมทางเพศของเด็กในชุมชนแห่งหนึ่งใน กทม.พบว่า  เด็กผู้ชายวัย 11 ขวบ มีพฤติกรรมลวนลามและละเมิดทางเพศต่อเด็กวัย 3-10 ขวบ  จำนวน 10 คน โดยเด็กคนดังกล่าวอยู่ในครอบครัวที่มีพี่น้อง 4 คน    พ่อแม่มีอาชีพค้าขายรายวัน มีปัญหาทางด้านการเรียน บุคลิกค่อนข้างเรียบร้อย  ชอบเล่นกับเด็กผู้หญิง โดยชวนให้ มาเล่นสร้างบ้าน บางครั้งจะนำขนมมาล่อ ในปี 2543  พบว่าลวนลามและละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุ 3-10 ขวบ 9 คน และเด็กผู้ชายวัย 3 ขวบ   อีก 1 คน เด็กหญิงบางรายถูกละเมิดมากกว่า 1 ครั้ง ทั้งในห้องพักของครอบครัวเด็กชาย ห้องพักของเด็ก ที่ถูกละเมิด ในสวนสาธารณะ และในรถตุ๊กตุ๊กที่จอดหน้าชุมชน  เด็กที่ถูกละเมิดพากันฟ้องผู้ปกครองและครู ซึ่งเด็กชาย ยอมรับกับครูว่ากระทำจริง แต่แม่ของเด็กไม่ยอมมาพบครู และไม่ให้เด็กชายไปโรงเรียนอีกและแก้ปัญหาโดยพาไปค้าขายด้วย

                กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังเก็บข้อมูลจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 5 แห่งในชนบทภาคอีสาน เป็นตัวอย่าง 9 กรณี เด็ก 24 คน โดยการพูดคุย และสังเกตพฤติกรรมเด็กและจากการสัมภาษณ์ครูแนะแนวทั้ง 5 แห่ง ซึ่งแสดงสภาพปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของเด็กพบว่าเด็กที่อยู่ในวัยเรียนมีความสัมพันธ์ทางเพศและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

                ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ตามหอพัก มีกรณีหนึ่งกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้น 3 คน มีค่านิยมที่ผิด ในการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน โดยเห็นว่าเป็นความโก้เก๋ที่นำมาอวดกัน เด็กนักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.2 เด็กคนหนึ่ง ครอบครัวมีฐานะดี พ่อทำงานที่ต่างจังหวัด นานๆจะกลับมาบ้านสักครั้ง พี่ชายทำงานใน กทม. ส่วนแม่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่สนใจเอาใจใส่ลูก เด็กจึงมีอิสระอย่างเต็มที่ พาเพื่อน 2 คนมาพักอยู่ด้วยกัน ทั้ง 3 คน จะออกไปเที่ยวทุกๆคืน และนอนตอนกลางวัน เริ่มเสพยาบ้า และมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนชายจนกระทั่งเกิดการแข่งขันกันในกลุ่มว่า ใครจะมีความสัมพันธ์ทางเพศได้มากกว่ากัน โดยมีสมุดจดชื่อ อายุ ที่อยู่ของผู้ชายไว้เป็นหลักฐาน นอกนั้นยังพบว่า เด็กมีปัญหาทางอารมณ์รุนแรง มีการทุบตีทำร้ายแม่ ถ้าไม่ให้เงินใช้ นอกจากนี้ ยังพบนักเรียนชายระดับมัธยมต้น มีพฤติกรรมเป็นนายหน้ากับสถานบริการทางเพศ โดยติดต่อเพื่อนในโรงเรียนให้ขายบริการ จำนวนมาก



อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/vcafe/11933
โผออกส่วนใหญ่คดีข่มขืนมาจากพฤติกรรมยั่วของเหยื่อ


จากโผที่ทำการตรวจสอบมาจากประชากรชาวอังกฤษในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการข่มขืน 54% ชี้ว่าเหยื่อมีส่วนในการในเกิดคดีดังกล่าว 
ทั้งนี้เองบรรดาผู้ที่ให้การสอบถามนั้นต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่า เหยื่อที่ถูกข่มขืนก็ควรรับผิดชอบในการดูแลตัวเองไม่ให้มีพฤติกรรมยั่วยวนทางเพศ ทั้งกริยาและการแต่งตัวด้วย จากความคิดเห็นของชายหญิงภายใต้หัวข้อเรื่อง การระวังการข่มขืน ส่วนใหญ่ให้ความเห็นกันว่า 54% เหยื่อที่ถูกข่มขืนนั้นมีพฤติกรรมยั่วยุทางอารมณ์ อาทิเช่น เต้นยั่วยวนทางเพศ แสดงพฤติกรรมยั่วยวนยั่วยุทางเพศ รวมทั้งการแต่งกายยั่วยวน โป๊เปลือยไม่ถูกกาลเทศะ
     จากการสอบถามข้อคิดเห็นดังกล่าวสร้างเรื่องที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ให้ความคิดเห็นนั้นเป็นหญิงมากกว่าชาย และจากอัตรา 1 ใน 10 ของเหยื่อที่ถูกข่มขืนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่รับเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า และผลการตรวจสอบค่าเฉลี่ย 20% ของเหยื่อที่ถูกข่มขืนนั้นมักไม่กล้าที่จะแจ้งความว่าตนเองโดนข่มขืนมาทั้งนี้เอง ผลจากการสอบถามแสดงความคิดเห็นของกลุ่มชายหญิงต่างพากันชี้ว่าเหตุที่เกิดคดีดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดจากสิ่งใดอื่นมาเป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากการยั่วยุทางเพศทั้งการแต่งตัว การประพฤติตน และกริยาต่างๆ ที่เธอแสดงออกมา ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องจริงโดยหาเรื่องคัดค้านได้ยาก
ต้องยอมรับว่าสตรีสมัยนี้มีค่านิยมในการแต่งตัวที่สื่อไปในทางที่ไม่งามเท่าที่ควรนัก ทั้งการนุ่งสั้น ใส่รัด และการโชว์นู้นนิดเปิดนี้หน่อย ทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นค่านิยมที่พูดกันว่า อยากสวย อยากโชว์ เพราะมีดีเลยต้องโชว์ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่นำพาให้เกิดเหตุการณ์การข่มขืนกันอย่างไม่ขาดสาย ด้วยกับการแต่งตัวของบรรดาดาราที่ทำให้บรรดาสตรีหลายท่านอยากเรียนแบบตามเพราะอยากสวยแบบดารา แต่ในที่สุดก็เป็นการชักศึกเข้าบ้านชักภัยเข้าหาตัว เพราะฉะนั้นก่อนจะทำสิ่งใดไปนั้นก็ควรไตร่ตรองกันให้ดีๆอย่าสับแต่ว่าคิดสวยอย่างเดียว มิเช่นนั้นอาจจะตกเป็นเหยื่อก็เป็นได้






อ้างอิง : http://www.thaimuslim.com/view.php?c=6&id=8128

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น