วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ปัญหาสังคม


ปัญหาสังคม

           
เมื่อคนหลายคนมาอยู่รวมกันจนเกิดเป็นสังคม ทุกสังคมมักจะต้องมีปัญหาสังคมเกิดขึ้น อาจจะเป็นปัญหาเล็กน้อย หรือเป็นปัญหาใหญ่ที่รุนแรง ซึ่งล้วนแต่รอการแก้ไขจากคนในสังคมทั้งนั้น เมื่อเกิดปัญหาสังคมขึ้นในสังคมนั้นๆ ก็จะทำให้คนในสังคมอยู่อย่างไม่สงบ มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งก็จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม และอาจจะลุกลายใหญ่โต จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้  ดังนั้นสังคมจึงต้องมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ เพื่อควบคุมให้คนสังคมอยู่อย่างสงบสุข ลดปัญหาลง แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องก็ไม่มีกฎหมายมาควบคุม หรือบางเรื่องก็เกิดมายาวนานจนยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น การศึกษาปัญหาสังคมจึงมีความสำคัญมาก ที่จะหาสาเหตุ หรือสิ่งที่สนับสนุนให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างถาวร
ปัญหาสังคม คือ สถานการณ์อย่างหนึ่งที่คนในสังคมหนึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่คุกคามต่อค่านิยมของเขา หรือสร้างความเดือดร้อนให้เขา จึงมีการตกลงร่วมใจกันที่จะแก้ไขหรือกำจัดสถานการณ์นั้นให้หมดไปได้
ปัญหาสังคมมีมากมายหลายอย่าง แต่ปัญหาใหญ่ๆก็มี เช่น ปัญหาทางการเมือง เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมือง หรือบุคคลในข้าราชการ ต่างๆ สาเหตุมักเกิดจาก ความโลภ ความอยากได้อยากมี การขาดความซื่อสัตย์ของบุคคลนั้นๆ หรือ เพราะสังคมขาดกฎระเบียบ กฎหมายละหลวม ไม่เคร่งครัด ทำให้ เขาขาดความเกรงกลัว และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ หรืออาจเป็นเพราะค่านิยมในสังคม ที่มักยกย่องคนที่มีอำนาจเกินควร ทำให้บุคคลนั้นหลงไปกับชื่อเสียงกับความสุขทางวัตถุมากกว่าคำนึงถึงคุณธรรมและความถูกต้อง การคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเองและสังคม เช่น การทำให้สังคมพัฒนาล่าช้า ทำลายความมั่นคงในประเทศ ทำให้ผู้อื่นหรือประเทศเสียผลประโยชน์ นอกจากนั้นยังทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้กระทำเอง ทำให้เสื่อมเสียไปถึงครอบครัว และวงศ์ตระกูล แต่การคอร์รัปชั่นนั้นก็มีข้อดีบ้างคือ กระตุ้นให้คนที่มีอำนาจคิดหาช่องทางที่จะทำโครงการต่างๆ เช่น การสร้างถนนใหม่ การขยายอาคาร หรือสำนักงาน เพื่อที่ตนเองจะเบียดบังเอาประโยชน์ หรือ กระตุ้นให้ผู้เสียผลประโยชน์มีความระมัดระวังรักษาสิทธิและโอกาสของตนเองมากขึ้น เป็นต้น ส่วนแนวทางการแก้ไขอาจทำได้หลายด้าน เช่น การจัดอบรมข้าราชการ หรือนักการเมืองที่มีอำนาจให้เป็นคนมีคุณธรรม ดังคำที่ว่า ความรู้ คู่คุณธรรม หรือเป็นคนเก่งควบคู่กับการเป็นคนดีด้วย หรือควรออกกฎหมายบังคับลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง เช่น จำคุกตลอดชีวิต หรือ ประหารชีวิต เพื่อจะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นๆ ควรให้การศึกษาแก่ประชาชนให้มีความรู้ ความฉลาด ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ และควรให้สวัสดิการและเงินเดือนแก่บุคคลในอำนาจให้เพียงพอกับฐานะและหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีเหตุผลที่จะต้องคอร์รัปชั่น หรือควรให้ระบบหมุนเวียนเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้บุคคลนั้นมีอำนาจมากเกินไป  ประเด็นในเรื่องปัญหาด้านการเมืองไม่ใช่มีเพียงแค่การคอร์รัปชั่นเท่านั้น แต่ยังมีอีกมากมายที่ควรจะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ประชาชน และคนในสังคม และทำให้เกิดการพัฒนาสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น
ปัญหาความยากจน เป็นอีกปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิตของคนในสังคมมากและเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกับประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งมักจะมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยวัดจากค่าครองชีพของคนในสังคม สาเหตุของความยากจนนั้น มีสาเหตุใหญ่ๆ คือ ความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น ร่างกายพิการ ชราภาพ เป็นโรคจิต ป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถที่จะทำงานหรือทำมาหากินลี้ยงชีพตนเองได้, การเสียระเบียบในสังคม เช่น ครอบครัวแตกแยก การว่างงาน การเกิดโรคระบาด หรือการเพิ่มจำนวนของประชากรอย่างรวดเร็วจนทรัพยากรไม่มีเพียงพอ เป็นต้น ความยากจนเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมอีกมากมาย ก่อผลกระทบต่อทั้งบุคคลและสังคม เช่น ทำให้เกิดปัญหาด้านการศึกษา เด็กและเยาวชนขาดการศึกษา หรือ เกิดปัญหาชนชั้นระหว่างคนจนกับคนรวย ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเนื่องจากการไม่พออยู่พอกิน ทำให้ประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหาความยากจน จนทำให้การพัฒนาประเทศมีความล่าช้า การจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น มีหลายวิธี  เช่น ด้านร่างกายและจิตใจ  ทางรัฐบาลควรดูแลใส่ใจประชาชน ให้สวัสดิการเกี่ยวกับด้านอาหารการกิน ไม่ให้อดอยาก ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับรักษาสุขภาพอนามัย มีหน่วยบริการสุขภาพหรือสถานพยาบาลอย่างทั่วถึง และไม่ราคาสูงมากเกินไป ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ให้คนในสังคมรู้จักพอเพียง ขยัน อดทน  ด้านการจัดระเบียบสังคม จะต้องมีการจัดระเบียบภายในสังคมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มอบหมายหน้าที่แก่บุคคลในสังคมให้ชัดเจน มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม  เป็นต้น
ปัญหาความยากจนนั้น ยากที่จะแก้ไขได้ในเวลารวดเร็ว เพราะเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นมากมาย และเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกประเทศ ยากที่แก้ไขให้หมดไป ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายด้วย
            ปัญหาอาชญากรรม เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม เป็นการกระทำที่คนในสังคมไม่ทำกัน เช่น การฉ้อโกง ปล้น จี้ ข่มขืน ฆ่าคน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาที่ผู้กระทำจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งมีโทษสถานเบาตั้งแต่ริบทรัพย์ไปจนถึงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต เมื่อได้มีการพิสูจน์แล้วว่าได้กระทำผิดจริง
สาเหตุของการเกิดอาชญากรรมมีหลายข้อหลักๆ ดังนี้ ความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ เช่น รูปร่างหน้าตาไม่สมประกอบ ร่างกายพิกลพิการ เป็นต้น มักจะเป็นที่รังเกียจของสังคม ถูกดูถูกเหยียดหยาม ไม่ได้รับความสนใจ เป็นเป็นผลผลักดันให้เกิดอาชญากรรมได้ เพราะความน้อยเนื้อต่ำใจ ความเคียดแค้น หรือเป็นการเรียกร้องความสนใจจากสังคม  บางครั้งอาชญากรรมก็เกิดจากความบกพร่องทางด้านจิตใจ เช่น คนสติปัญญาไม่สมประกอบ มักจะมีนิสัยก้าวร้าวดุดัน โวยวาย มีอารมณ์รุนแรง เป็นต้น
การเสียระเบียบสังคม คือการที่สังคมขาดระเบียบ มีความวุ่นวานสับสนจนเกิดความเสื่อมโทรม ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมได้ง่าย
การแข่งขันกันในสังคม เกิดจากค่านิยมทางวัตถุ ทำให้คนในสังคมเกิดการแข่งขันกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เพราะอยากจะเท่าเทียมกับผู้อื่น
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม คือ ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ พบว่าผู้ที่ประกอบอาชญากรรมส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุน้อยมากกว่าผู้มีอายุมาก แต่ก็มีการเปลี่ยนไปตามประเภทของอาชญากรรมด้วย
ปัจจัยเกี่ยวกับเพศ พบว่าเพศชายมักจะก่ออาชญากรรมมากกว่าเพศหญิง แต่หากบทบาทของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ก็มักจะมีการก่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นจนเท่าเทียมกับเพศชาย เพศหญิงมักก่ออาชญากรรม เช่น การค้าประเวณี ทำแท้ง ลักทรัพย์ เป็นต้น
ปัจจัยเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของผู้กระทำผิด มีส่วนทำให้เกิดอาชญากรรมเช่นเดียวกัน เพราเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของครอบครัวและภาพแวดล้อม ซึ่งถ้าเขาเกิดในสังคมที่มีแต่ความรุนแรง ก็มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเกี่ยวกับภูมิภาค ขนาดและที่ตั้งของชุมชนก็มีผลต่อการเกิดอาชญากรรม พบว่า ชุมชนเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่มักมีการเกิดอาชญากรรมมากกว่าชุมชนเล็กๆ
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ถ้าสังคมมีการพัฒนา มีเศรษฐกิจที่ดี คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี ปัญหาอาชญากรรมก็ลดลง ตรงกันข้าม หากเป็นยุคข้าวยากหมากแพง เงินบาทลอยตัว จะเกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบของปัญหาอาชญากรรมนั้นมีเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อทั้งบุคคลและสังคมเช่น เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน หรือคนในสังคมที่ไม่ควรเอาอย่าง อาชญากรรมทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำได้รับความเสียหาย ทั้งทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง ร่างกายและจิตใจ อาจจะก่อให้เกิดปมด้อยขึ้น หรือเกิดความแค้นอาฆาต อาชญากรรมทำให้ผู้ที่กระทำนั้นมีจิตใจดุกร้าว โหดเหี้ยม และทำให้ติดเป็นนิสัย
            อาชญากรรมเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ เพราะรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปราบปรามอาชญากรรม และเมื่อได้ไม่ปราบปรามหรือลงโทษผู้กระทำผิด จะทำให้คนในสังคมอยู่อย่างหวาดระแวง ไม่เป็นสุข และทำให้คนดีเสียกำลังใจและไม่อยากทำดีต่อไป อาชญากรรมจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนไม่แพ้ปัญหาความยากจนที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วไว แนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมนั้นก็มีหลายวิธีเช่น การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนอย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถที่จะนำไปประกอบอาชีพอย่างสุจริต หาเลี้ยงชีพตนเองได้ และสามารถช่วยพัฒนาสังคม ลดการเกิดปัญหาอาชญากรรมได้ นอกจากนี้ ควรให้การศึกษาและอบรม ดูแลผู้ที่มีความบกพร่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้พวกเขาไม่เป็นภาระและเป็นที่รังเกียจของสังคม มีวิชาชีพให้พวกเขาทำ ให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าของตนเอง และควรจัดอบรมให้ความรู้กับครอบครัว หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคลเหล่านี้ ให้มีความรู้จักและเข้าใจบุคคลประเภทนี้มากขึ้น ควรให้ความรัก ความเห็นใจ ระมัดระวังเอาใจใส่เป็นพิเศษ นอกจากนี้การเผยแพร่ข่าวอาชญากรรมที่รุนแรงทางสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่เสนอรายละเอียดการประกอบอาชญากรรมมากเกินไป เพื่อไม่ให้ผู้อื่นมีโอกาสนำไปลอกเลียนแบบ และภาพข่าว ละคร หรือ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรงควรที่จะแบ่งแยกประเภทผู้ชม เด็กและเยาวชนไม่ควรได้รับชมเพื่อไม่ให้เป็นภาพติดตาม หรือเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
นอกจากนี้ทางรัฐเองควรออกกฎหมายที่เคร่งครัด มีบทลงโทษที่รุนแรง มีผู้บังคับใช้กฎหมายที่เอาจริงเอาจัง เพื่อให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่กล้ากระทำผิด ในส่วนของผู้ที่กระทำผิดแล้วกลับตัวเป็นคนดี สังคมควรให้โอกาสให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างไม่เป็นที่รังเกียจ หรือเป็นปมด้อยจนหมดกำลังใจ แต่ทางรัฐควรปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมแก่เขา เช่น อาจจะให้ไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ เป็นต้น
            ปัญหาสังคมประเด็นสำคัญที่กล่าวมานั้น เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาหลายอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขก็อาจจะลุกลามเกิดเป็นปัญหาอื่นๆตามมาได้ ปัญหาสังคมไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือคนใดคนหนึ่งที่จะต้องแก้ไขเพียงคนเดียว ปัญหาสังคม คือปัญหาที่ทุกคนในสังคมควรเอาใจใส่และช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่คิดว่าไม่เกี่ยวกับตนเองแล้วไม่สนใจ ควรให้ความร่วมมือ สอดส่องดูแลเสมือนสังคมเป็นบ้านหลังใหญ่ สถาบันต่างๆในสังคมเองก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาสังคม ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าเท่านั้น เพราะสังคมจะพัฒนาไปไม่ได้เลย ถ้าหากสังคมยังไม่สงบสุข มีปัญหามากมายทั้งด้านอาชญากรรม ความยากจน การศึกษา ฯลฯ โดยเฉาะสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถานบันพื้นฐานในสังคม ที่จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการเลี้ยงดู ดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อบรมสั่งสอนอย่างดี ให้การศึกษาแก่สมาชิกในครอบครัวอย่างพอเพียง เพื่อที่ให้เขาออกไปสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิใจ มีประสิทธิภาพ เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และยังสามารถเป็นกำลังสำคัญในการที่จะพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น