วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

การฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็ง


การฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็ง

การใช้รังสีทางการแพทย์ดำเนินมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค โดยเริ่มจากการใช้เครื่องมือและวิธีการง่ายๆ จนปัจจุบันมีการใช้เทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นที่ยอมรับว่ารังสีมีประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะในด้านการรักษาโรคมะเร็ง การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี เทคนิคการรักษาที่สลับซับซ้อนด้วยเครื่องมือที่มีความก้าวหน้า ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำมีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อยลง การใช้รังสีอย่างพอเหมาะช่วยผู้ป่วยนับล้าน ๆ คนให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นในแต่ละปีในบางกรณีมีการใช้รังสีเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดลง ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกทรมาน
ความเสี่ยงในการฉายรังสี
            ในการวินิจฉัยโรคนั้นจะใช้รังสีในปริมาณที่น้อยกว่าใช้ในการรักษาโรค โดยนักฉายรังสีจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้สูงสุดในปริมาณที่น้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงลง อย่างไรก็ตามข้อมูลสถิติทางการแพทย์ แสดงว่าความเสี่ยงจากรังสีที่ทำให้เกิดการตายเนื่องจากโรคมะเร็งมีประมาณ 1 ใน 2,000 คน หรือ 0.05% ในขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นมีถึง 1 ใน 4 หรือ 25% 
ชนิดของรังสีที่ใช้ทางการแพทย์
Ø   รังสีเอกซ์  เป็นรังสีที่มนุษย์ทำขึ้น รังสีเอกซ์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นพวกเดียวกับคลื่นแสง แต่มีความถี่สูงจึงมีพลังงานสูงสามารถทะลุผ่านวัตถุต่างๆ ได้ รังสีเอกซ์พลังงานช่วงกิโลอิเล็กตรอนโวลท์ใช้ในการวินิจฉัยโรค รังสีเอกซ์ขนาดพลังงานสูงในช่วงล้านอิเล็กตรอนโวลท์ ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่อยู่ลึกเข้าไปจากผิว
Ø    รังสีแกมมา เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี รังสีแกมมาเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ สารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้อาจอยู่ในรูปของแข็ง เช่น โคบอลต์-60 ซีเซี่ยม-137 ใช้รักษาโรคโดยการฉายรังสีและใส่แร่ ส่วนสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในรูปของเหลวใช้ในงานของเวชศาสตร์นิวเคลียร์
Ø   รังสีเบต้า เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี ซึ่งอาจอยู่ในรูปของแข็ง เช่น สตรอนเชียม-90 รักษาโรคตา หรืออยู่ในรูปของเหลวใช้ในการรักษาและวินิจฉัยโรค
Ø    ลำอิเล็กตรอน ได้จากเครื่องเร่งอนุภาค เช่นเดียวกับรังสีเอกซ์พลังงานสูง ใช้รักษามะเร็งที่อยู่ใกล้พื้นผิว

หลักการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
            การนำรังสีมาใช้รักษาและบำบัดโรคมะเร็งเรียกง่ายๆ ว่าการฉายรังสี หรือการฉายแสง ซึ่งรังสีที่ใช้รักษานี้มีพลังงานสูงทำให้มีอำนาจในการทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ได้ดี แหล่งกำเนิดรังสีมี 2 ประเภท คือ แหล่งกำเนิดรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น เช่น เครื่องเร่งอนุภาคซึ่งให้รังสีเอกซ์ และแหล่งกำเนิดรังสีจากธรรมชาติ เช่น สารกัมมันตรังสี  ซึ่งให้รังสีแกมมา  รังสีที่ได้จากแหล่งกำเนิดข้างต้น สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยมีหลักการคือรังสีจะฆ่าเซลล์ที่เติบโตเร็ว ดังนั้นเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วจึงถูกทำลายได้ง่าย และเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์ซึ่งแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์เยื่อบุลำไส้ ก็มีโอกาสถูกทำลายด้วย แต่เซลล์ปกติของมนุษย์มีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็งจึง สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ดีหลังจากได้รับรังสี นอกจากนี้แพทย์ทางรังสีรักษามีเครื่องมือและวิธีการเพื่อทำให้ลำรังสีเข้าถึงบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ขั้นตอนการฉายรังสี

การฉายรังสี โดยเครื่องฉายรังสีซึ่งมีหลายประเภท เป็นเครื่องคล้ายเครื่องตรวจทางเอ็กซเรย์ แต่มีขนาดใหญ่กว่า  การรักษา โดยผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง มีหัวเครื่องฉายอยู่ด้านบน ห่างจากตัวผู้ป่วย ประมาณ 60-70 ซม. หัวเครื่องฉาย ถ้าปิดเครื่องจะไม่มีรังสีออกมา  หัวเครื่องฉายจะหมุนได้รอบตัวผู้ป่วย สามารถฉายรังสีให้กับผู้ป่วยได้ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง โดยผู้ป่วยไม่ต้องขยับตัวเปลี่ยนท่านอนระหว่างได้รับการฉายรังสี   การควบคุมเครื่องฉายรังสี การจัดท่าผู้ป่วย และการให้การรักษาด้วยการฉายรังสี  อยู่ในการควบคุมดูแลโดยนักรังสีเทคนิค/นักรังสีการแพทย์ ซึ่งได้รับการเรียน การสอน การอบรม ฝึกงานด้านการฉายรังสี  ซึ่งจะจัดท่าผู้ป่วย เทคนิค ปริมาณรังสี ตรงกับในการวางแผนจากเครื่องจำลองภาพ และจากนักฟิสิกส์การแพทย์
โดยทั่วไป จะฉายรังสี วันละ 1 ครั้ง  5 ครั้งต่อสัปดาห์ หยุดพัก 2 วัน แล้วเริ่มต้นใหม่  เวียนไปจนครบได้ปริมาณรังสีตามแพทย์กำหนด  แต่ตารางการฉายรังสีอาจเปลี่ยนแปลงได้  ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์กำหนด การฉายรังสีมักให้การรักษาผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยนอก เมื่อฉายรังสีเสร็จ ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ทำงานต่อได้ และกลับมารับการรักษาใหม่ในวันรุ่งขึ้น หรือตามตารางการรักษาที่แพทย์กำหนด
           
            นอกจากการรักษาด้วยรังสีแบบระยะไกล โดยใช้เครื่องฉายรังสีแล้ว การใส่แร่หรือการรักษาด้วยรังสีแบบระยะใกล้ (Brachytherapy) ยังเป็น อีกรูปแบบหนึ่งของการใช้รังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็งโดยแพทย์จะนำสารกัมมันตรังสีซึ่งอยู่ในรูปแบบเม็ดหรือแท่งขนาดเล็กให้เข้าไปอยู่ชิดบริเวณที่เป็นมะเร็งให้มากที่สุด การใส่แร่นี้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การวางแร่ในเข็มซึ่งแทงเข้าไปในก้อนมะเร็ง หรือการวางแร่ ในก้อนมะเร็งโดยตรง (Interstitial Implantation) การวางแร่ในเครื่องมือสอดใส่แร่ของมะเร็งปากมดลูก (Intracavitary Brachytherapy)และการวางแร่ลงในสายพลาสติก เพื่อรักษาอวัยวะที่เป็นรูกลวง (Intraluminal Brachytherapy) เช่น มะเร็งหลอดอาหาร
โดยปกติแล้วการรักษาด้วยรังสีแบบระยะไกลด้วยเครื่องฉายรังสี และการใส่แร่ หรือการรักษาด้วยรังสีแบบระยะใกล้ ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีรังสีตกค้างอยู่ในตัว สามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ อยู่ใกล้คนใกล้ชิดได้เหมือนคนปกติผู้ป่วยซึ่งอยู่ในช่วงที่ใช้รังสีรักษา จะได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิด จากแพทย์ พยาบาล นักฟิสิกส์การแพทย์ เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
 




           
            ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากขึ้น จึงมีการนำเครื่องมือสมัยใหม่ซึ่งมีความแม่นยำปลอดภัยมาใช้ในทางรังสีรักษา ได้แก่ การผ่าตัดโดยใช้รังสี เช่น แกมมาไนฟ์ (Gamma Knife) การฉายรังสี 3 มิติ (3 Dimension Radiation Therapy) และการฉายรังสีปรับความเข้ม (Intensity- modulated radiation therapy) ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ
ตัวอย่างเครื่องฉายรังสี
เครื่องฉายรังสี RapidArc
เครื่องฉายรังสีปรับความเข้ม 1,000 องศา (Volumetric Modulated Arc Radiotherapy)
 เครื่องฉายรังสีปรับความเข้ม 1,000 องศา แบบ RapidArc  จากบริษัท Varian (ประเทศสหรัฐอเมริกา) เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการฉายรังสี ซึ่งเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย ซึ่งสามารถทำให้ปริมาณรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็ง พร้อมทั้งลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉายรังสีได้ดียิ่งขึ้น และสามารถลดระยะเวลาในการฉายรังสีในแต่ละครั้งได้เร็วกว่าเทคนิคการฉายแบบปรับความเข้มได้ 10 เท่า ซึ่งการฉายรังสีแบบ RapidArc นี้ เครื่องฉายรังสีจะหมุนรอบตัวผู้ป่วยซึ่งเครื่องสามารถปรับความเร็วของการหมุนและปรับเปลี่ยนเครื่องกำบังรังสีให้ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็งได้ในขณะฉายรังสี โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกกำหนดโดยเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาซึ่งมีประสิทธิภาพสูง

            เนื่องจากนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพวัฒโนสถ นำมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งที่ศีรษะและลำคอ รวมทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่าง 'วีแมท' (VMAT : Volumetric Modulated Arc Therapy) เทคโนโลยีใหม่ของการฉายรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
            การฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี วีแมทเครื่องสามารถหมุนทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยรูปลักษณ์ของลำรังสีจะปรับเปลี่ยนตามรูปร่าง และทิศทางตามลักษณะของก้อนมะเร็ง ซึ่งเครื่องวีแมทจะทำงานร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการวางแผนการรักษา (Computer Treatment Planning) ส่งผลให้ปริมาณและขอบเขตของรังสีมีความพอดีกับเนื้อเยื่อมะเร็ง ทำให้ผลการรักษามีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ระยะเวลาในการฉายรังสีแต่ละครั้งก็สั้นลง หากเปรียบเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (IMRT) ที่กินเวลา 15-30 นาที แล้ว วีแมท ใช้เวลาฉายรังสีให้เสร็จสิ้นภายใน 3-5 นาทีดังนั้น วีแมท สามารถลดความผิดพลาดอันอาจเกิดจากการขยับตัวของผู้ป่วย ทั้งยังมีการใช้ระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งก่อนการฉายรังสี ทำให้การรักษามีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่เนื้อเยื่อดีถูกทำลายก็ลดน้อยลง ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องใช้ควบคู่และมีคุณสมบัติพิเศษอีกชิ้นหนึ่งคือ เตียงปรับระดับแบบ 6 มิติที่ถูกควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถปรับองศาในการนอนของผู้ป่วยให้ตรงจุดที่ถูกฉายรังสี มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ผลข้างเคียงการรักษาด้วยการฉายรังสี
            ผลข้างเคียงของการรับการรักษาด้วยรังสี อาจทำให้เกิดความไม่สบายตัว แต่มักจะบรรเทาอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับการรักษาครบ แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ดูแลตลอดการฉายรังสีจนกว่าจะครบการรักษาโดยปกติผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน ตามตำแหน่งที่ได้รับรังสี ปริมาณรังสีและสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนหน้าที่จะได้รับรังสี ผลข้างเคียงซึ่งพบบ่อยคือ อ่อนเพลีย ผิวหนังคล้ำบริเวณที่ถูกรังสี ความอยากอาหารลดลง ขนหรือผมบริเวณที่ถูกรังสีบางลง ซึ่งผลข้างเคียงนี้มักไม่รุนแรงและผู้ป่วยยังสามารถทำงานหรือกิจวัตรได้เช่นเดียวกับก่อนฉายรังสี
 






สรุป
            การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันแพทย์ทางมะเร็งวิทยาจะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน คือให้การผ่าตัดและฉายรังสีเป็นการรักษาเฉพาะที่และใช้การรักษาเสริม คือ การให้ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านเซลล์มะเร็งฉีดหรือกิน เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจกระจายอยู่ในอวัยวะอื่นๆ
            โดยสุรปหลักการทางรังสีรักษา คือ ฆ่าเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุด โดยไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปกติ ปัจจุบันมีมะเร็งหลายชนิด ซึ่งสามารถรักษาหายได้ด้วยรังสีรักษา เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งผิวหนังรังสีรักษามีผลต่อมะเร็งเฉพาะบริเวณที่ฉายเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนการผ่าตัด ซึ่งตัดเฉพาะส่วนที่ไม่ดีออก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการฉายรังสีและการผ่าตัดเป็นการรักษาเฉพาะที่ และไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
            นอกจากรังสีจะใช้รักษาก้อนมะเร็งแล้ว ยังมีการใช้รังสีเพื่อบรรเทาอาการปวด จากมะเร็งระยะลุกลาม เช่น การปวดกระดูกการปวดศีรษะจากมะเร็งลุกลามไปที่สมอง (Brain Metastasis) การใช้รังสีเพื่อช่วยในการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow-Transplantation) การใช้รังสีเพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็งมาที่สมอง (CNS Prophylaxis) และการรักษาโรคอื่น นอกจากโรคมะเร็ง เช่น การป้องกันเส้นเลือดอุดตันซ้ำหลังผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจ (Restenosis Prophylaxis) การป้องกันการเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด (Keloid Prophylaxis) เป็นต้น


แหล่งข้อมูล
            http://www.chulacancer.net/newpage/question/radiation-dangerous.html
http://www.chulacancer.net/newpage/RapidArc.html
http://www.suriyothai.ac.th/node/3426
http://www.npa-account.com/news/view.php?id=1306
http://thastro.org/pages/xrt/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น