วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

การศึกษาดูงาน ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย


นาวสาวจิตพิสุทธิ์  จำนงค์จิตร  5237717139
  
 
การศึกษาดูงาน ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย

            ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 เปิดมานานกว่า 40 ปีแล้ว ในการดำเนินงานระยะแรกมีความขาดแคลนในด้านต่างๆมากมาย แต่ก็ได้มีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆจนในปัจจุบัน ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นอาคารที่มีความสมบูรณ์พร้อม เป็นศูนย์กลางในการพัฒนากีฬาแบบครบวงจร เพื่อให้นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และบุคลากรทางการกีฬามีความรู้ความสามารถ มีความพร้อม และประสบความสำเร็จในการแข่งขันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนานักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ
            อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬานั้น ประกอบด้วยแผนกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาดังนี้ 1. กองสมรรถภาพการกีฬาและกองกีฬาเวชศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ให้บริการด้านการทดสอบสมรรถภาพ เป็นคลินิกกีฬา ให้คำปรึกษาด้านการส่งเสริมสมรรถภาพแก่นักกีฬาทีมชาติไทย นักกีฬาสโมสรต่างๆ พนักงาน ผู้ช่วยปฏิบัติงาน กกท. และบุคคลทั่วไป ภายในห้องมีเครื่องออกกำลังกาย เครื่องทดสอบสมรรถภาพที่ทันสมัยจำนวนมาก เช่น เครื่องวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย เครื่องฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น  2. ห้องปฏิบัติการด้านจิตวิทยาการกีฬาและห้องกายภาพบำบัด ภายในเปิดให้บริการด้านการทำกายภาพบำบัดและฟื้นฟูการบาดเจ็บแก่นักกีฬาทีมชาติไทยและบุคคลทั่วไปโดยเสียค่าใช้จ่าย บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบาดเจ็บและการฟื้นฟูร่างกาย มีห้องพยาบาลที่มีแพทย์คอยดูแล และมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เครื่องอุลตราซาวด์ เครื่องทดสอบสภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อและข้อต่อ เป็นต้น 3.กองวิจัยและพัฒนากีฬา ซึ่งเป็นห้องทำวิจัยและวิเคราะห์ทางชีวกลศาสตร์ วิเคราะห์สมรรถนะทางกีฬา มีห้องสมุดวิทยาศาสตร์การกีฬาซึ่งเก็บรวบรวม หนังสือ เอกสาร งานวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลทางการกีฬาในกีฬาชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์การกีฬาด้านการทดสอบและวิจัย เช่น ชุดวัดสมรรถนะการเคลื่อนไหวทางกีฬา ชุดสนับสนุนการฝึกซ้อมด้านโภชนาการ เป็นต้น
            กลุ่มเป้าหมายของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาส่วนใหญ่คือ นักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งสามารถมาใช้บริการด้านต่างๆได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้นักกีฬาทีมสโมสรต่างๆ พนักงานและเจ้าหน้าที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทยและประชาชนทั่วไปยังสามารถมาใช้บริการได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดให้ เป้าหมายของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรจากการให้บริการ แต่มีจุดประสงค์ในการเป็นศูนย์พัฒนาและส่งเสริมสมรรถภาพนักกีฬาในการเตรียมตัวเข้าแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยนำวิทยาศาสตร์การกีฬาในสาขาต่างๆเช่น สรีรวิทยา จิตวิทยา โภชนาการ กีฬาเวชศาสตร์และชีวกลศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนากีฬาของชาติ  เพื่อพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และพัฒนากีฬาเพื่อการอาชีพในเทียบเท่ากับระดับนานาชาติ
จุดเด่นของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา คือ เป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยมีการพัฒนาและนำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยีที่ทันสมัยครบครันมาใช้ในการพัฒนาการฝึกซ้อมกีฬา การเสริมสมรรถภาพร่างกาย การป้องกันการบาดเจ็บ การฟื้นฟูการบาดเจ็บ มากขึ้น ตลอดจนการเลือกใช้อุปกรณ์กีฬา การรับประทานอาหาร เป็นต้น เป็นศูนย์ที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างแท้จริง
จุดด้อยของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาคือ แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬายังถือว่าใหม่อยู่ในสายตาคนทั่วไป และศูนย์แห่งนี้ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ ในแต่ละปีมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไม่มากนักเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น และบุคคลที่มาทำงานด้านนี้โดยตรงก็มีน้อย ทำให้บุคคลากรด้านนี้น้อยและการพัฒนาจึงช้าตามไปด้วย แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ เทคโนโลยีทันสมัย แต่หากขาดบุคลกรที่มีความสามารถในการใช้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ จุดด้อยอีกข้อหนึ่งของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งนี้คือ การให้บริการไม่ทั่วถึง ซึ่งมีการให้บริการส่วนใหญ่แก่ทีมชาติไทยเท่านั้นแต่จะเปิดให้บริการแก่คนนอกบางส่วนเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่รู้จักทำให้ศูนย์แห่งนี้ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
บุคลกรที่ทำงานในศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งนี้จำเป็นต้องมีความรู้ในด้านต่างๆของวิทยาศาสตร์การกีฬา เช่น กายวิภาคศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับระบบโครงสร้างขอร่างกาย รูปร่างสัดส่วนของนักกีฬาแต่ละคน เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ หัวใจ ปอด ฯลฯ สรีรวิทยา ความรู้เกี่ยวกับการทำงานและหน้าที่ของระบบต่างๆของร่างกายซึ่งสามารถกระตุ้นและพัฒนาให้ดีขึ้นได้โดยการฝึกซ้อมที่เหมาะสม และการดูแลสุขภาพที่ดี  ชีวกลศาสตร์ เกี่ยวกับการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อในการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องทางเทคนิคแก่นักกีฬา จิตวิทยาการกีฬา ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิด การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่มีผลต่อการแสดงออกด้านพฤติกรรม การเคลื่อนไหว และทักษะทางกีฬาซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน โภชนาการทางการกีฬา ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของอาหารแต่ละชนิด การเลือกรับประทานอาหารสำหรับนักกีฬาทั้งช่วงซ้อมและมีการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างโครงร่างของนักกีฬาให้แข็งแกร่ง ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว และความรู้ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ เวชศาสตร์การกีฬา การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงสมรรถนะของนักกีฬา
บทบาทของนักวิทยาศาสตร์การกีฬามีความสำคัญมากต่อนักกีฬาและการกีฬาของประเทศในปัจจุบันซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาให้ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งนี้จะเป็นต้นแบบที่จะทำให้เกิดศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาอีกหลายๆที่ในอนาคต ไม่เพียงแต่เป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ถ้าสโมสรกีฬาต่างๆมีศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาประจำของตนเองก็จะมีความได้เปรียบและสามารถพัฒนานักกีฬาของตนเองได้ดีกว่าที่อื่น ซึ่งจะเป็นจุดที่จะทำให้วิทยาศาสตร์การกีฬาแพร่หลายและมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น