วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

กิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพและสมรรถภาพ


กิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพและสมรรถภาพ   

เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นทางด้านการส่งเสริมความแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่ร่างกาย

ประเภทของกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพ และสมรรถภาพ มีดังนี้
- การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
- การพักผ่อน
- การส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น ไปเที่ยว ชมภาพยนตร์ ฝึกสมาธิ

คุณค่าของกิจกรรมพัฒนาสุขภาพ และสมรรถภาพ
- พัฒนาคุณภาพชีวิต ทางด้านสุขภาพกาย และจิตใจ
- พัฒนาสมรรถภาพทางกาย
- สร้างความสมดุลของร่างกาย
- ผ่อนคลายความตึงเครียด จากการดำเนินชีวิตประจำวัน

      สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกคน  จุดมุ่งหมายของนันทนาการประการหนึ่ง ก็เพื่อพัฒนาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของคนให้สมบูรณ์  ดังนั้น  กิจกรรมนันทนาการอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น พร้อมกับความสนใจในสุขภาพของคนในปัจจุบัน คือ กิจกรรมนันทนาการประเภทพัฒนาสุขภาพและสมรรถภาพ ซึ่งกิจกรรมนันทนาการประเภทนี้เป็นกิจกรรมแบบผสมผสาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการลีลาชีวิต (Life Style Management)     ซึ่งนักวิชาการ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า นันทนาการสุขภาพ (Wellness) ว่าหมายถึง กิจกรรมประเภทลีลาชีวิต (lifestyle) ชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีความประสงค์ที่จะฝึกฝนด้านสุขภาพและการทำให้มีสุขภาพดี  หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ  สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับมนุษย์  ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีและเป็นการพัฒนาของชุมชน และจะมี       ส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งมีความสำคัญต่อสภาวะและสภาพความเป็นอยู่
     กิจกรรมนันทนาการสุขภาพ (Wellness) นั้นก็คือ กิจกรรมนันทนาการเพื่อพัฒนาสุขภาพนั่นเอง  ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการจัดการของบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลการศึกษา โอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และยังเป็นการจูงใจในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมกระทำในสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด  เกี่ยวกับลักษณะการดำเนินชีวิตเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดี 




     รูปแบบการจัดกิจกรรม
          1. การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและสมรรถภาพ
          2. การจัดการเกี่ยวกับโภชนาการ
          3. การจัดการเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่ม สิ่งเสพติด
          4. การจัดโปรแกรมนันทนาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
          5. การสร้างสมดุลสุขภาพกายสุขภาพจิต
          6. การควบคุมความเครียดและการผ่อนคลาย
          7. การจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยต่อพฤติกรรมเสี่ยง


สุขภาพ ที่แข็งแรง แสดงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี  การออกกำลังกายจึงเป็นของคู่กัน  ชีวิตของคนเราไม่ควรขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตในสัดส่วน  ตั้งแต่สรีระร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความคิด ความจำ หากได้รับการออกกำลังกายก็ยิ่งสามารถพัฒนาสุขภาพโดยรวมได้ทุกๆ ด้าน พ่อ แม่ จึงจำเป็นต้องให้การสนับสนุนในด้านนี้ และฝึกให้ลูกออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ  เด็กที่ได้รับการออกกำลังกายจะมีข้อได้เปรียบดังนี้
1. ด้านความเจริญเติบโต     
ถ้าเด็กได้รับการออกกำลังกายอย่างถูกหลักวิธี  การเจริญเติบโตของเซลส์ ซึ่งเป็นจุดเจริญเติบโตของกระดูก (growth plate)  จะได้รับการกระตุ้นและแบ่งตัวมากขึ้น เอ็นและข้อต่อก็จะเจริญเติบโตตามสัดส่วนไปด้วย ส่วนเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังกายตามวัยอันควรอย่างเหมาะสม กระดูกจะเล็ก เปราะบาง และขยายสัดส่วนในด้านความยาวได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้แคระแกรน เติบโตช้า

2. ด้านสติปัญญา  
การออกกำลังกายทำให้เกิดการกระตุ้นของฮอร์โมนต่างๆ หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง growth hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพื่อความเจริญเติบโต สามารถหลั่งออกมาได้มากขึ้น  เสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง เกิดเชาว์ปัญญา ส่งผลให้การศึกษาเล่าเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า

3. ด้านสุขภาพ       
การออกกำลังกาย จะช่วยกระตุ้นระบบสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น  มีผลในการปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมของเชื้อโรค และสารภูมิแพ้ต่างๆ เด็กที่ขาดการออกกำลังกายจะมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนได้บ่อย ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพนี้มักจะติดตัวไปจนถึงผู้ใหญ่


4. ด้านสังคมและจิตใจ        
การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นหมู่คณะ  ทำให้เด็กรู้จักปรับตัวในสังคม จึงเป็นการเพาะบ่มให้เกิด EQ (ความฉลาดทางอารมณ์)  สามารถเข้าใจความรู้สึก ความคิดของคนอื่นได้เป็นอย่างดี เป็นประโยชน์สุขในการดำรงชีวิตในสังคมเมื่อเติบใหญ่

วัยที่แตกต่างกัน  :  การออกกำลังกาย
การเลือกชนิดหรือวิธีการออกกำลังกายที่จะให้ผลดีต่อร่างกาย ควรเลือกแบบวิธีที่เหมาะสมกับตน  อายุจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อวิธีการเลือกการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี  ดังนั้น ช่วงอายุของการออกกำลังกาย จึงควรมีความแตกต่างกัน

วัยเด็ก  : ก่อน 11 ปี สำหรับเด็กผู้หญิงและ ก่อน 12 ปี สำหรับเด็กผู้ชาย ในวัยนี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถของร่างกายต่อกิจกรรมการกีฬายังมีข้อจำกัด การออกกำลังกายหรือการฝึกทักษะกีฬาที่ต้องใช้เทคนิคสูงๆ ใช้แรงมาก  ใช้ความเร็วสูง จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี  ดังนั้น จึงควรเป็นกิจกรรมหรือกีฬาง่ายๆ  ที่มุ่งเน้นความสนุกสนาน
เพลิดเพลิน ไม่ควรเน้นเรื่องของการแข่งขันแพ้หรือชนะ เนื่องจากจะทำให้เด็กรู้สึกกดดันและไม่ชอบ
เล่นกีฬา
                                                                                                                                                 
วัยรุ่น  : ระหว่างอายุ 12-15 ปี  ซึ่งเป็นวัยของการฝึกฝนที่จะเตรียมสู่การเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถสูงได้  สภาวะของร่างกายกำลังมีความเจริญเติบโต  การเลือกเล่นกีฬาสามารถเลือกเล่นได้แทบทุกประเภทที่มีความชอบหรือสนใจ และถ้าหากมีความพยายามที่จะฝึกทักษะ เทคนิค และความชำนาญอย่างจริงจัง สม่ำเสมอก็มีโอกาสประสบผลสำเร็จ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬายิมนาสติก และว่ายน้ำ ซึ่งเหมาะสำหรับฝึกขณะร่างกายกำลังเจริญเติบโตในช่วงนี้

วัยหนุ่มสาว  :  ตั้งแต่ 16 – 30 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว สมรรถภาพทางกายมีความพร้อม  พวกที่มีพื้นฐานมาดีจากวัยรุ่นก็สามารถพัฒนาสืบต่อและฝึกเทคนิคในขั้นสูงได้ง่าย  ซึ่งจะทำให้ประสบผลสำเร็จสูงสุดในวัยนี้

วัยผู้ใหญ่  : ตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป   เป็นวัยที่สมรรถภาพทางร่างกายในด้านต่างๆ เริ่มถดถอยลดลงแล้ว  โดยเฉลี่ยจะลดลงร้อยละ 1 ของทุกปี  วัยนี้จึงควรเลือกการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากกว่ากีฬาเพื่อการแข่งขัน  ไม่ควรหักโหม  และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ   ควรอยู่ในขั้นพอเหมาะ พอควรที่ร่างกายรับได้  ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อร่างกายจากการออกกำลังกายในช่วงนี้อย่างมาก เพราะสามารถทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อมช้าลงด้วย
                                                                                                                                               
วัยชรา  :  ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป   เป็นวัยที่อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมอย่างชัดเจน สมรรถภาพการทำงานร่างกายลดลง  ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หนัก, เร็ว, การเหวี่ยง, การกระแทก หรือนานเกินไปโดยไม่มีจังหวะพัก  สิ่งที่ควรตระหนักอีกประการคือ   ควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและความสมบูรณ์ของตน  เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายและการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น  ลดความเสี่ยงในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาสำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ในวัยนี้ควรได้รับการตรวจเลือดและคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test)

               
แหล่งที่มา
http://www.thaigoodview.com/node/52006  : สร้างโดย: อังศุธร ซึมโรจน์ประเสริฐ และ นาย สมาน ถวิลกิจ
http://www.ss.mahidol.ac.th/thai/KnowHealthpage5-8.html  : แหล่งข้อมูล : รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก
นำเสนอโดย : พรพิมล สุรินทร์วงศ์และทีมงานประชาสัมพันธ์, สุชาติ อาจทรัพย์ งานสารสนเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น